เมื่อช่วงปลายปี 2017 เราและแฟนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งหนึ่งในสถานที่ที่วางแผนจะไปกันคือนิทรรศการ Van Gogh & Japan ซึ่งแฟนของเรามีความสนใจในงานศิลปะและ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) เป็นทุนเดิม ส่วนตัวเราที่ไม่มีพื้นศิลปะใด ๆ แค่คิดว่าไปก็น่าจะเพลินสายตาดี ด้วยข้อห้ามในนิทรรศการนั้นห้ามถ่ายรูป เราเลยจดชื่อศิลปินกับรูปที่ชอบ คิดแค่ว่าจะเอามาเป็นรูปพื้นหลังหน้าจอคอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์ สิ่งที่จดออกมาได้เปรียบเหมือนเลนส์ให้เรามองศิลปะเปลี่ยนไป
สิ่งที่จดออกมา katsushika hokusai - 36 views of mount fuji utagawa hiroshige - famous views of the 53 stations
Ukiyo-e คืออะไร
หลังจากกลับมาจากญี่ปุ่น เราลืมสิ่งที่จดมาไปสนิท จนกระทั่งสองเดือนถัดมา ภาพเหล่านั้นได้ผุดในหัว เราจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่าภาพที่เราจดมาไม่ได้เกิดขึ้นจากการวาด แต่เป็นการพิมพ์ และด้วยเทคโนโลยีในสมัย 1800s จึงเป็นภาพที่ถูกพิมพ์ด้วยแผ่นไม้ (Woodblock Printing) ในใจเราคิด เราโง่เหลือเกินที่เหมารวมว่าภาพทุกภาพนั้นเกิดจากการวาด
ในญี่ปุ่นภาพพิมพ์ด้วยไม้เหล่านี้ถูกเรียกว่า Ukiyo-e (อุคิโยะเอะ) แปลว่าโลกที่ล่องลอย หรือสื่อความได้ว่า ‘โลกมนุษย์ปัจจุบัน’ ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) ในยุคสมัยนั้นซึ่งเต็มไปด้วยความสนุกสนานและมายา ซึ่งภาพที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาส่วนใหญ่ จะสะท้อนเป็นอยู่ ความธรรมดา ในแต่ละวันของคน
เสน่ห์ของภาพพิมพ์ไม้นั้นแตกต่าง ต่างเพราะวิธีการผลิตนั้นมาจากการทำงานระหว่าง ช่างวาด ช่างแกะสลัก ช่างพิมพ์ และผู้ผลิต
- เริ่มจากผู้ผลิตมีความต้องการอยากได้ เช่นภาพชุดทิวทัศน์ของภูเขาฟูจิ 36 ภาพ ผู้ผลิตติดต่อไปที่ช่างวาดเพื่อว่าจ้าง โดยปกติแล้วจะจ่ายเป็นค่าตอบแทนเป็นเงินก้อน (Lump Sum)
- ช่างวาดทำตามความต้องการของผู้ผลิต ในกรณีตัวอย่างนี้ ช่างวาดจะเดินทางรอบประเทศเพื่อร่างภาพทิวทัศน์ของภูเขาฟูจิ ที่ต่างกันทั้ง 36 ภาพ ด้วยหมึกดำ
- ช่างแกะสลักจะนำภาพร่างมาแกะสลักจากแผ่นไม้ เพื่อเปลี่ยนเป็นแม่พิมพ์ไม้ โดยแม่พิมพ์ 1 แผ่นเท่ากับสี 1 สี เพราะฉะนั้นภาพที่มีสีเยอะเท่าไหร่ จำเป็นต้องการแม่พิมพ์ไม้ตามจำนวนนั้น ๆ ซึ่งอาจจะมากถึง 20 แผ่นไม้ต่อการพิมพ์ภาพ 1 ภาพ ซึ่งงานแกะสลักนั้นใช้ต้องการความชำนาญมาก ว่ากันว่าต้องผึกฝนเป็น 10 ปีถึงจะได้ชื่อว่าเป็นช่างแกะสลักที่ดี
- สุดท้ายช่างพิมพ์ สร้างสีจากแร่ธาตุหรือพืช (โดยสีจะถูกกำหนดโดยช่างวาด) ระบายสีบนแผ่นไม้ วางกระดาษบนแผ่นไม้ จากนั้นใช้แป้นถูแผ่นกระดาษ เพื่อให้สีติดกับกระดาษ โดยจะทำซ้ำให้ครบจำนวนแผ่นไม้ทีละแผ่น ไล่ทำจากสีอ่อน ไปจบที่สีเข้ม
จะเห็นว่างานทุกส่วนมีความสำคัญเท่ากันทั้งหมด แต่ผู้ที่ได้เครดิตจากผลงานจะเป็นผู้ผลิตและช่างวาด (มีตราปั้มบนภาพและมีลายเซ็นบนภาพ ตามลำดับ)
ศิลปินที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งคือ โฮกูไซ (Katsushika Hokusai) เขาต่างกับศิลปิน Ukiyo-e คนอื่นที่เขาเรียนวิธีแกะสลักแม่พิมพ์ไม้ตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นช่างวาด เพราะฉะนั้นเขามีความเข้าใจและสามารถทำผลงานภาพพิมพ์ได้ลึกซึ้งกว่าศิลปินคนอื่น ที่ต้องอาศัยช่างแกะสลักในการเปลี่ยนภาพให้เป็นแม่พิมพ์ไม้
สิ่งที่น่าสนใจของ Hokusai คือเขาเชื่อว่ายิ่งเขาแก่ตัว งานที่ออกมาจะดีตามอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อตอนที่เขาอายุ 75 ปีในปี 1835 เขาเขียนทิ้งท้ายไว้ในหนังสือ One Hundred Views of Mt Fuji ว่า
“กระทั่งอายุ 70 งานฉันที่ผ่านมา ล้วนไม่มีความหมาย ช่วงอายุ 73 ฉันเพิ่งเข้าถึงการเจริญเติบโตของพืช รวมไปถึงโครงสร้างของแมลงและสัตว์ ฉะนั้นตอนฉันอายุ 80 และ 90 ฉันจะพัฒนาได้มากขึ้นกว่านี้และเข้าใจพื้นฐานของสรรพสิ่งในโลก ตอนฉันอายุ 100 ฉันจะอยู่ในจุดที่สูงที่สุดของในงานศิลปะของฉัน และพอฉันอายุ 110 ทุกลายเส้นและจุดที่ฉันสร้าง จะเกิดมีชีวิตในตัวของมันเอง”
ตอน Hokusai อายุ 71 เขาสร้างงาน The Great Wave Off Kanagawa หรือภาพคลื่นยักษ์ที่เราคุ้นเคยในสื่อ ไม่ว่าจะเป็น หน้าปกเพลง La mer ของ Claude Debussy, Emoji บน iOS, Logo ของ Quicksilver, เสื้อผ้าของ Uniqlo และ Sun Surf, และธนบัตรญี่ปุ่นที่กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนในปี 2024 ซึ่ง
Uniqo Shirt Debussy – La mer 2024 Japanese 1000 yen Banknote
แวนโก๊ะ กับอิทธิพลจากญี่ปุ่น
แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) ในปี 1888 ได้บันทึกไว้ในจดหมายระหว่างเขากับน้องชาย กล่าวว่าเขาอยากได้งานของ Hokusai มาสะสม เขารู้สึกได้จริงว่าคลื่นยักษ์เหมือนกงเล็บที่กำลังจะกลืนหมู่เรือ ในจดหมายฉบับที่ 640 และฉบับที่ 676
จะเห็นว่างาน Portrait ตัวเองของ แวนโก๊ะ บางชิ้นจะมีองค์ประกอบของ Ukiyo-e อยู่ ยิ่งไปกว่านั้นเขาได้วาดภาพ Ukiyo-e ในรูปแบบของสีน้ำมัน ซึ่งวาดตามศิลปินที่ชื่อว่า ฮิโรชิเกะ (Utagawa Hiroshige) ขึ้นมาในแบบของ แวนโก๊ะ เองเป็นจำนวน 2 ชิ้นด้วยกัน
ซ้าย Vincent Van Gogh Self-Portrait with Bandaged Ear
ขวา Geishas in a landscape จาก artchive.ru
ขวา Van Gogh, Bridge in the Rain (After Hiroshige) ปี 1887 โดย Van Gogh จาก Google Arts & Culture
Hokusai และ Hiroshige มีชื่อเสียงพอกันและเป็นคู่แข่งกัน โดยส่วนตัวแล้วเราชอบงานของ Hiroshige มากกว่าเพราะดูเป็นธรรมชาติ สงบ และสบายใจ ซึ่งถ้าเทียบกับงานของ Hokusai นั้นทุกลายเส้นของเขามีพลังงานพุ่งออกมา จนจิตใจเรารับไม่ไหว
ปัจจุบันหาซื้อ Ukiyo-e ได้หรือไม่
เนื่องจากการ Ukiyo-e เป็นภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ เพราะฉะนั้นแต่ละภาพสามารถผลิตด้วยจำนวนที่แพร่หลาย สอดคล้องกับความต้องการในยุคสมัยนั้น โดยราคาในช่วง Edo จะมีราคาเทียบเท่ากับบะหมี่หนึ่งชามเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกคนสามารถเข้าถึงงานชนิดนี้ได้ อีกทั้งจำนวนที่สามารถผลิตได้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด เพราะถ้าแผ่นไม้เสื่อมสภาพก็สามารถซ่อมได้ ถ้าซ่อมจนไม่สามารถซ่อมได้อีก ก็เพียงแกะสลักขึ้นมาใหม่
ด้วยการผลิตที่แพร่หลายในอดีต ผสมกับความนิยมงาน Ukiyo-e ในปัจจุบัน งานที่สามารถหาซื้อได้แบ่งเป็นสองประเภท
- งานที่ถูกพิมพ์ ณ สมัยนั้นตั้งแต่ปี 1700 ถึง 1900 โดยจะเป็นงานต้นตำหรับจากช่างวาด ช่างแกะสลัก ช่างพิมพ์ ตัวจริง โดยราคาจะสูงมาก และจะขายโดย collector และ reseller ราคาจะเริ่มจากหมื่นจนไปถึงล้านบาท อย่างเช่นร้าน HARA SHOBO ในโตเกียว
- งานที่ถูกพิมพ์ในสมัยปัจจุบัน โดยช่างวาด ช่างแกะสลัก และช่างพิมพ์ ศึกษาเรียนรู้งานเก่า ร่ำเรียนฝึกฝนและทำซ้ำขึ้นมาด้วยวิธีดั้งเดิม เพื่อให้คุณภาพใกล้เคียงกับงานต้นแบบ โดยเราสามารถเข้าถึง Great Wave off Kanagawa ได้เพียงราคาไม่กี่พันบาท อย่างเช่นร้าน Adachi ที่เกิดมาตั้งแต่ปี 1900
ในยุค 1800s ทั้ง Van Gogh และ Hokusai ต่างไม่หยุดพัฒนางานของตัวเอง จวบถึงวันสุดท้ายในชีวิต สะท้อนกลับมาในปี 2020 ที่สิ่งรอบตัวหมุนเร็ว เราต่างให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราอาจต้องเลือกระหว่างรู้แนวดิ่งให้ลึก กับ รู้แนวระนาบให้กว้าง
หรืออยู่ตรงกลางให้กลม