อ่านตอนที่ 2 – แผ่นเสียง Vinyl คืออะไร เกิดมาร่วม 100 ปีทำไมยังนิยมอยู่?
น่าสนใจที่การเกิดของ Spotify และ Apple Music ไม่สามารถเหยียบแผ่นเสียง (Vinyl) และเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Turntable) ให้หายไปพจนานุกรมเหมือนกับช่วง Cassette และ CD ในยุค 90’s ー กลับกัน Spotify ทำให้ยอดของ Vinyl พุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา
โดยผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกระแสของแผ่นเสียงพัดมาให้เริ่มซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงเมื่อปี 2016 และได้ค้นหาข้อมูลร่วมปีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ จึงพบว่าไม่ง่ายเลยสำหรับผู้เริ่มต้นที่จะได้ดื่มด่ำกับ groove ที่อยู่ในร่องของแผ่นเสียง ผมเลยจะแชร์ความรู้ที่ศึกษาและประสบมาให้ผู้เริ่มต้นย่อยได้ง่าย และเพื่อที่จะให้วัฒนธรรมของแผ่นเสียงอยู่ต่อไป
หลักการของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
สงสัยไหมครับว่าเสียงจากแผ่นเกิดได้ยังไง มันเกิดจากหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นเดินตามร่องที่อยู่บนแผ่นเสียง จากนั้นจะได้สัญญาณ Phono จากหัวเข็มซึ่งสัญญาณนั้นเบามากจนไม่สามารถขยายโดยวิธีปกติได้ จะมี flow ง่ายๆดังนี้
แผ่นเสียง > ถูกอ่านโดยเครื่องเล่นแผ่นเสียง > ได้สัญญาณ Phono > สัญญาณ Phono ถูกขยายโดย Phono Pre-amp > ได้สัญญาณ Line > สัญญาณ Line ถูกขยายโดย Amplifier > ส่งสัญญาณที่ขยายแล้วไปยังลำโพง
ปัจจุบันรูปแบบของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นได้พัฒนาจนมีหลายรูปแบบ บางรุ่นแค่เสียบปลั๊กแล้วสามารถฟังได้จากลำโพง built-in ของเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ทันที ในขณะเดียวกันหลายๆรุ่นยังจำเป็นต้องต่อ Power-Amp และ/หรือ Phono Pre-amp แยก
ซึ่งไม่ว่าตัวขยาย Phono จะ built-in หรือต้องต่อแยก (standalone) ในการเล่นแผ่นเสียงยังไงก็ต้องขยาย Phono โดยตัวขยายสามารถไปฝังอยู่กับอุปกรณ์ต่างๆได้ดังนี้
- Built-in มาพร้อมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง
- Built-in มาพร้อมกับ Amp
- Built-in มาพร้อมกับลำโพง
- แยกออกมาเป็นอุปกรณ์ Standalone
Setup ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
1. เครื่องเล่นแผ่นเสียง + แอมป์ + ลำโพง Passive
อุปกรณ์ที่ต้องการคือ
- เครื่องเล่นแผ่นเสียง
- Phono Stage
- แอมป์
- ลำโพง Passive (ลำโพงที่ไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ)
ข้อสังเกต
- Setup ชนิดนี้ค่อนข้างอเนกประสงค์เพราะอุปกรณ์แต่ละชิ้นแยกกันอย่างชัดเจน ถ้ามีงบมากขึ้นในการอัพเกรดอุปกรณ์ชิ้นใดๆก็สามารถทำได้โดยสะดวก
- ด้วยความที่อุปกรณ์แต่ละชิ้นมีหน้าที่โดยชัดเจน ทำให้คุณภาพเสียงที่ได้รับมีแนวโน้มจะไปในทางที่ดี
- กินพื้นที่และยุ่งยากต่อการจัดสายเครื่องเสียง
2. เครื่องเล่นแผ่นเสียง + ลำโพง Active
อุปกรณ์ที่ต้องการคือ
- เครื่องเล่นแผ่นเสียง
- Phono Stage
- ลำโพง Active (ลำโพงที่ต้องเสียบปลั๊กไฟ)
ข้อสังเกต
- Setup ชนิดนี้สะดวกและเป็นที่นิยมมากเนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีแอมป์เพื่อทำการขยายสัญญาณ Phono เพราะได้ถูกแทนที่ด้วยลำโพง Active แล้ว และยังคงความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง/อัพเกรดอุปกรณ์ไว้อยู่
- ลำโพง Active หลายๆยี่ห้อมีคุณภาพไม่แพ้กับลำโพง Passive เลย
- ไม่สามารถอัพเกรดแอมป์ได้เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยลำโพงแบบ Active
3. เครื่องเล่นแผ่นเสียง All in one
อุปกรณ์ที่ต้องการคือ
- เครื่องเล่นแผ่นเสียง
ข้อสังเกต
- Setup ชนิดนี้เอื้อต่อการเข้าถึงโลกของแผ่นเสียงมาก เพราะเครื่องเล่นแผ่นเสียง All in one นั้นได้รวบความวุ่นวายของ Setup ไว้ในตัวของมันที่เดียว เรียกว่าแค่เสียบปลั๊กและวางแผ่นเสียง ก็พร้อมดื่มด่ำกับโลกของ Vinyl ได้ทันที
- ด้วยความเป็น All in one นั้นแน่นอนต้องแลกความสะดวกสบายกับคุณภาพของเสียง ซึ่งในหลายๆครั้งอาจต้องแลกกับอายุการใช้งานของแผ่นเสียงที่ถูกเล่นด้วยเช่นกัน
- ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมทั่วโลกคือ Crosley และเรามียี่ห้อที่เป็นของคนไทยคือ Gadhouse
สุดท้ายขอบคุณที่อ่านจนมาถึงย่อหน้านี้ และยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจจะหาเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ถูกใจมาใช้กับแผ่นเสียงที่สะสมมา ถ้าท่านไหนตัดใจแล้วว่าจะอยู่กับ Hobby นี้อีกหลายปีผมแนะนำว่าให้ดู Setup 1 หรือ 2 ที่แยกเครื่องเล่นแผ่นเสียงกับลำโพง ส่วนถ้าท่านไหนยังไม่แน่ใจว่าจะชอบไหมผมแนะนำให้เริ่มด้วย Setup 3 ที่เป็น All in one แล้วค่อยหันกลับไปหา Setup 1 หรือ 2 ครับ
เพราะจริงๆสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราสะสมแผ่นเสียงของวงที่เราชอบมาเล่นบนเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นไม่ได้หมายความว่าเสียงจากแผ่นเสียงนั้นชัดกว่าบน Streaming แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเราได้ผูกพันธ์กับสินทรัพย์ที่จับต้องได้ต่างหาก