อ่านตอนที่ 1 – อยากจะมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับฟังที่บ้าน ต้องรู้อะไรบ้าง?
อ่านตอนที่ 2 – แผ่นเสียง Vinyl คืออะไร เกิดมาร่วม 100 ปีทำไมยังนิยมอยู่?
พอพูดถึงคำว่าไวนิล (Vinyl) ภาพที่ปรากฏในหัวของแต่ละคนอาจต่างกัน บางคนอาจเอาไว้เรียกแทนป้ายโฆษณา บางคนอาจจะเอาไว้เรียกแผ่นเสียงวงกลมสีดำ ซึ่งสองอย่างนี้ถูกเชื่อมโยงโดยวัสดุพื้นฐานที่เหมือนกันคือ Polyvinyl Chloride ซึ่งบทความนี้จะพูดถึงอย่างหลังคือ Vinyl ที่สื่อความว่าแผ่นเสียง
แผ่นเสียง Vinyl คืออะไร
สิ่งที่กำลังจะพูดถึงนั้นเรียกได้หลายชื่อมาตั้งแต่ Vinyl (ซึ่งเรียกตามวัสดุพื้นฐาน จริง ๆแล้วแปลกเพราะว่าเราไม่เคยใช้คำว่า พลาสติก หรือ ทองแดง เป็นสรรพนามเรียกแทนอะไร), Record, LP, Wax, Album หรือ a vinyl record ซึ่งจะเรียกว่าอะไรก็ได้ไม่ผิด (แต่ห้ามเรียกว่า Vinyls เด็ดขาดเพราะมันเป็นคำ mass noun เหมือนกับคำว่า beer หรือ cheese เพราะถ้าไปถามเจ้าของร้านว่า Do you stock any Daft Punk vinyls in the store? นี่อาจจะโดนมองหน้าได้)
การเกิดของ CD ส่งผลต่อแผ่นเสียงอย่างไร
เมื่อกลับไปดูประวัติศาสตร์น่าสนใจว่าเทคโนโลยีของการฟังเพลงไม่ได้เปลี่ยนไปเลยตั้งแต่ Thomas Alva Edison คิดค้นเครื่องบันทึกและเครื่องเล่นเสียง Phonograph ขึ้นมาในปี 1877 (ใช่ครับ Edison ในอีก 20 ปีถัดมาได้คิดค้นหลอดไฟ)
ซึ่ง Vinyl ได้ถูก disrupt โดยการเกิดมาของ CD (Compact Disc) ในช่วงต้น 80’s ซึ่งภายในไม่ถึง 10 ปีถัดมาได้กลืน Vinyl แทบหายไปทั้งหมด เห็นกราฟแล้วอย่างกับ disruption ที่เรากำลังเจอกับวงการต่าง ๆที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน ถ้ามองลึกลงไปแล้วเหตุผลของการที่ CD มาแทนที่ Vinyl อาจจะเป็นเพราะ
- CD นั้นถูกอ่านด้วยเลเซอร์จากเครื่องเล่น CD จึงไม่อะไรกระทบกับแผ่น CD โดยตรง เพราะฉะนั้น CD เลยไม่มีเสียง Crackle หรือ Surface Noise ที่เกิดจากการเล่นของ Vinyl ที่หัวเข็มกระทบกับร่อง groove
- ความแน่นอนในการผลิตซ้ำ หลายๆคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ที่ใช้โปรแกรม Nero หรือ ImgBurn เพื่อก๊อปปี้แผ่น CD ที่ซื้อจากร้านแบ่งให้เพื่อนฟัง ขนาดผู้บริโภคปลายน้ำอย่างเรายังผลิตซ้ำได้ 100%
แผ่นเสียง Vinyl เกิดมาร่วม 100 ปีทำไมยังนิยมอยู่? และทำไมถึงเติบโตอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21?
นักวิจารณ์หลายคนบอกว่า Vinyl ที่เป็นเสียง Analogue นั้นดีกว่าเสียงจาก CD/Streaming ที่เป็น Digital โดยให้ความเห็นว่าเสียงจาก Vinyl นั้นนุ่มกว่า โดยผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ความนิยมของ Vinyl กลับมาครั้งไม่ใช่คุณภาพของเสียงแต่เป็น ‘ประสบการณ์’
ปัจจุบันทุกคนต่างถวิลหาคำว่า Customer Experience (CX) โดย CEO จาก MAQE ได้สรุปไว้อย่างกระชับว่า “CX คือความต้องการที่ฝังลึกอยู่ข้างในสุดของคน และได้แสดงออกมากับสินค้าและบริการนั้น ๆ” ซึ่ง Vinyl มีองค์ประกอบหลายอย่างที่สามารถดึง Gen-Y และ Gen-Z ซึ่งระหว่างโตมาไม่เคยสัมผัสแผ่นเสียงมาก่อน
แทนที่จะให้โลกปัจจุบันที่เราสามารถจะฟังเพลงอะไรก็ได้ด้วยการเปิดฐานข้อมูล 50 ล้านเพลงบน Spotify ให้ไหลเข้ามาซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ ‘ประสบการณ์’ ที่ได้สัมผัส ได้เห็น ได้ยินจากแผ่นเสียงได้ เราได้สัมผัสในช่วงที่เลือกแผ่นจากชั้นวางว่าตอนนี้เราจะฟังอัลบั้มไหนดี เราดึงแผ่นเสียงออกมาจากซอง เราดูฉลากที่อยู่ตรงกลางแผ่นว่าเรากำลังจะเล่นหน้า A หรือ B ถ้าหาไม่เจอเราก็จะดูหาอักษร A/B ที่คนสร้างสลักรหัสแผ่น วางแผ่นเสียงให้พอดีกับร่องของเครื่องเล่นแผ่นเสียง เปิดสวิทข์พร้อมใช้แปรงคาร์บอนเพื่อปัดฝุ่นและลดไฟฟ้าสถิตบนแผ่นเสียง ปลดสลักโทนอาร์มและวางเข็มลงบนวงนอกสุดของแผ่น สุดท้ายรอฟังเสียง Crackle/Noise ตอนที่เข็มกระทบแผ่น และหยิบใบที่แทรกอยู่ในปกที่วงตั้งใจทำให้ผู้ฟังมาอ่าน
ทั้งหมดนี้มันเป็น ‘ประสบการณ์’ ในการฟังเพลงที่ยากจะอะไรมาแทนที่้ เราใช้เวลา 20 นาทีดื่มด่ำกับทุกเพลงบนหน้า A ซึ่งวงดนตรีนั้น ๆ ได้ตั้งใจเรียงเพลงบนอัลบั้มให้เราฟังเป็นลำดับอย่างมีความหมาย จากนั้นพลิกแผ่นแล้วฟังหน้า B เพื่อใช้เวลาอีก 20 นาทีในการลุ้นว่าเพลงสุดท้ายของอัลบั้มทางวงจะซ่อนเพลงสิ่งที่ดีที่สุดเอาไว้ไหม
ต่อไปแผ่นเสียง Vinyl จะเป็นอย่างไร
ต้องบอกว่าทุกวันนี้ผมยังฟังเพลงจาก Music Streaming จาก Spotify และ YouTube เป็นหลัก ซึ่งโมเดลนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะได้สนับสนุนศิลปินตั้งแต่ ‘ลองฟัง’ ซึ่งการซื้อแผ่นเสียงเป็นการตอบโจทย์ประสบการณ์ที่ผมหาจากการฟังที่กล่าวไปย่อหน้าด้านบน
สำหรับผมสิ่งที่ดีที่สุดของแผ่นเสียง คือการที่ได้ใช้มันเป็นตัวกลางพาไปยังสิ่งต่าง ๆ ช่วงเวลาที่วงดนตรีมาแสดงสด แล้วเรารอหลังการแสดงเพื่อต่อแถวให้ศิลปินเซ็นบนหน้าปกของแผ่นเสียง เราได้เห็นการแสดงออกของศิลปินไม่ว่าจะเป็น การถามว่าไปได้มาจากไหน หรือกระทั่งคำขอบคุณที่อุดหนุนผลงานของเขา
คงจะดีไม่น้อยถ้าเรากับรุ่นลูกของเราได้ใช้แผ่นเสียงเป็นตัวกลางในการสร้าง ‘ประสบการณ์’ ในการฟังเพลงและการเลือกฟังเพลง ให้เขาได้ซึมซับเพลงที่เราฟัง แล้วได้พัฒนาเป็นรสนิยมในการฟังเพลงของตัวเอง เหมือนกับที่เราได้รับจากพ่อแม่ จนผมนึกถึงข้อความที่ป้าแต๋ว วาสนา วีระชาติพลี กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2007 ว่า
ดิฉันจึงอยากจะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ในตัวคนฟังที่เป็นเด็ก ๆ ให้เขาได้รู้ว่าเพลงดี ๆ เป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าในวันนึงที่ดิฉันไม่อยู่ เขาจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถเลือกฟังเพลงที่ดีได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งปัจจุบันป้าแต๋วยัง active อยู่ที่ CatRadioActive และ Wassieradio แนะนำให้เข้าไปฟังกันครับ
ปัจจุบันที่โลกที่หมุนเร็ว คนบางคนอาจจะให้ความสำคัญกับ ‘ประสบการณ์’ มากกว่าคุณภาพและความสะดวก ต่อไปเราอาจจะเห็นคนกลับมาอ่านหนังสือพิมพ์อีกครั้งเพราะอยากให้คราบคาร์บอนสีดำติดนิ้วโป้ง เหมือนกับที่เราอยากจะฟังเสียง Cracking จากหัวเข็มกระทบขอบแผ่น หรือเสียงชัตเตอร์จากกล้องฟิล์ม ก็เป็นได้