อ่านตอนที่ 1 – อยากจะมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับฟังที่บ้าน ต้องรู้อะไรบ้าง?
อ่านตอนที่ 2 – แผ่นเสียง Vinyl คืออะไร เกิดมาร่วม 100 ปีทำไมยังนิยมอยู่?
จากประสบการณ์ 5 ปีที่ผ่านที่เราเลือกซื้อแผ่น Vinyl มือหนึ่งและมือสอง ทั้งในและต่างประเทศ เรารวบรวม Tips และวิธีการที่เราคิดว่าจะทำให้คุณซื้อแผ่น Vinyl ได้อย่างคุ้มค่า และลดการที่เจอเรื่องผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวคุณ
วิธีการเลือก Vinyl โดยทั่วไป
อะไรก็ไม่สำคัญเท่าสภาพของ Vinyl ไม่ว่าแผ่นนั้นจะหายากแค่ไหน ถ้าเอาไปเล่นกับเครื่องเล่นแล้วเสียงแย่ ก็ไม่มีความหมาย โดยบทความนี้ เราจะอ้างอิงจาก Goldmine Grading Guide ซึ่งจะแบ่ง Grading ทั้ง Cover (ปก) และ Vinyl (แผ่น)
- Mint (M): แผ่นต้องไม่เคยถูกเล่นเลย และปกควรจะถูก Seal โดยพลาสติกอยู่ ซึ่งปกติแล้วจะใช้เรียกแผ่นใหม่
- Near Mint (NM or M-): แผ่นต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีรอยขีดและขนแมว ไม่มีเสียงสะดุดขณะเล่น ตัวซองต้องไม่มีรอยพับ รอยยับ เป็นร่องที่ขอบ เปียกน้ำ โดนทับเป็นรอยแผ่นวงกลม หรือร่องรอยใด ๆ ที่สังเกตได้ สภาพที่กล่าวไปนี้รวมไปถึงแผ่น Insert ข้างในปก เช่นเนื้อร้อง (ถ้ามี) เช่นเดียวกัน
- Very Good Plus (VG+): แผ่นอยู่ในสภาพดี จากการรักษาที่ดีของเจ้าของเก่า ร่องรอยบนแผ่นจะต้องไม่มีผลต่อการเล่น ปกอาจจะมีรอยที่ขอบ ขอบปกอาจจะปริเป็นเป็นร่องเล็ก ๆ
- Very Good (VG): อาจจะได้ยินเสียง surface noise จากการเล่นแผ่น โดยเฉพาะที่ช่วงดนตรีเบา ปกอาจจะถูกเขียนหรือมี tape ปิดกันรอยฉีกขาด
กรณีที่ซื้อจากช่องทางออนไลน์ (ไม่ได้สัมผัสหรือเห็นแผ่นจริง) เราแนะนำเลือกซื้อแผ่น VG+ ขึ้นไปดีกว่า เพราะการแบ่งสภาพนั้นค่อนข้าง subjective ขึ้นอยู่กับเจ้าของแผ่น Tip: โดยปกติแผ่นที่ซื้อจากเจ้าของที่เป็นคนญี่ปุ่น จะค่อนข้างไว้ใจได้ เพราะจะมีสภาพดีกว่า/เท่ากับ Grading ที่ระบุไว้
กรณีที่ซื้อจากหน้าร้าน ให้เอียง Vinyl ให้กระทบกับแสง เพื่อดูร่องรอยบนแผ่น รอยขนแมวอาจจะไม่ส่งผลต่อการเล่นจริง ถ้าเห็นรอยใดๆ แล้วเอานิ้วไปถูแล้วสัมผัสถึงร่อง (กินเนื้อแผ่นเข้าไป) แปลว่าตอนเล่นจริงเสียงจะสะดุด ทั้งนี้ถ้าหน้าร้านสามารถให้ลองได้ แล้วเป็น Vinyl ที่มีราคา เราแนะนำให้ลองฟังก่อนซื้อ
ซื้อ Vinyl จากที่ไหนดี?
จากหน้าร้าน Record Store
เราเชื่อว่าการซื้อแผ่นจากหน้าร้าน ให้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการซื้อออนไลน์ 2 อย่าง คือ
- Crate Digging หรือการหาแผ่นจากลัง โดยหลักการคือในร้านจะแบ่งโซนลังแผ่น แล้วแต่กับว่าร้านไหนจะเรียงยังไง บางร้านอาจจะแยกเป็นแนวเพลง เป็นวง เป็นประเทศ เราจะรู้ภาพกว้าง ๆ ว่าเรากำลังหาแนวแบบนี้ แต่เราจะไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเจออะไร ระหว่างการหา อาจจะเจอแผ่นที่เรารู้จักแค่ 1-2 แผ่น อาจจะเจอปกที่ถูกใจ แล้วหยิบขึ้นมาพลิกดู เอาตัวแผ่นออกมาเพื่อดูสภาพแผ่น และระหว่างนั้นอาจจะขอเจ้าของร้านเพื่อลองฟัง หรืออาจจะใส่หูฟังแล้วเปิด YouTube, Spotify ตรงนั้นเลยเพื่อการตัดสินใจก็ยังได้
Crate Digging มันให้ความรู้สึกที่ประหลาด เหมือนกับว่าเราหาแผ่นที่เขาซ่อนอยู่เจอ เราเจอในสิ่งที่คนอื่นไม่เจอ เราเห็นค่าในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น แล้วได้กลับมาคือความเติมเต็ม - การคุยกับเจ้าของร้าน – ร้าน Vinyl แต่ละร้านมีเอกลักษณ์ตามเจ้าของร้าน และการที่เจอเจ้าของร้านที่ฟังเพลงตรงกับเรานั้นเหมือนกับเจอเนื้อคู่ เขาสามารถแนะนำเพลงที่คิดว่าเราจะชอบ พาเราแตกแขนกไปแนวเพลงย่อย แลกเปลี่ยนวงที่ชอบ เปิดโลกในการฟังของเราให้กว้างกว่าเดิม แปลกที่เจ้าของร้านแนะนำวงอะไรมา ก็จะฟังเข้าหูไปหมด ซึ่งต่างกับเพลย์ลิสต์ Discover Weekly ใน Spotify ที่ให้เรามาอาทิตย์ละ 30 เพลง อย่างเก่งก็กด Like ให้ Algorithm ทำงานต่อได้แค่ 5 เพลง (เราอาจจะเรื่องมากเอง)
ส่วนตัวเราไปร้าน Vinyl ค่อนข้างน้อย แต่โชคดีที่เจอร้านที่ตรงกับความชอบของเรา คือ
Bungkumhouse Records
หรือร้านบึงกุ่ม โดยคุณก้อนเจ้าของร้าน (DJ GONLOHA) คัดเลือกแผ่นมาวางในร้านได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ World Music, หมอลำ, ลูกทุ่ง, Hip-hop, Alternative, 70s to 00s, City pop, Swedish Pop โดยเราได้แผ่นที่ไม่คิดว่าจะหาได้บ่อยครั้ง เช่น Eggstone ทั้งสามอัลบั้ม และ The Mary Onettes สองอัลบั้มแรก
ร้านบึงกุ่มอยู่ที่ชั้น 4 ในตึก Black Amber Baber Shop ในซอยระหว่างทองหล่อ 5 และทองหล่อ 7 เปิดตั้งแต่บ่ายโมง ยกเว้นวันจันทร์และอังคาร.
FB: Bungkumhouse Records
Address: https://goo.gl/maps/pcYbVZPyPMEtNFRu8
Vinyl Feeling – 45s WARS
หรือร้านคุณจอย (DJ Nanziee) เราเจอคุณจอยครั้งแรกเมื่อสมัยร้านอยู่แถวเอกมัย ซึ่งคุณจอยได้เปิดโลก Jazz Fusion ของเราให้กว้างขึ้นโดยแนะนำให้เรารู้จัก Masayoshi Takanaka อัลบั้ม The Rainbow Goblins ให้เราฟัง พอได้ฟัง Once Upon a Song ที่เป็นเพลงที่สองของอัลบั้ม ทำให้เราตระหนักว่า ความรู้เพลงของเรานั้นแคบเหลือเกิน ทำไมเราไม่เคยรู้จักสิ่งนี้มาก่อน ปัจจุบันพอมารู้ตัวอีกที วันนี้เรามีอัลบั้มของ Masayoshi Takanaka เข้าไป 5 อัลบั้ม พอมาย้อนคิดดูว่าญี่ปุ่นได้รับอิทธิพล Jazz จากสหรัฐหลังสงคราม ทำให้ดนตรีญี่ปุ่นเดินไปในทิศทางที่น่าสนใจ
ร้านของคุณจอยตั้งอยู่ที่ลาดพร้าว 44 ซึ่งปัจจุบันคุณจอยสะสม/ขาย แผ่นขนาด 7” สามารถนัดหมายเข้าไปที่ร้านได้ครับ
FB: Vinyl Feeling – 45s WARS
Address: https://goo.gl/maps/WvJNG21f2PeWfmSa9 (Appointment Only)
Disc Union
ทุกครั้งที่ไปประเทศญี่ปุ่น เราจะต้องใช้เวลาที่ Disc Union ของจังหวัดนั้น ๆ ที่เราไป และทุกครั้งจะได้แผ่นกลับมาเป็นจำนวนมากทุกครั้ง เนื่องจากทางร้านมีหลายสาขา แต่ละสาขาก็แยกแนวเพลงอย่างชัดเจน
แนะนำให้ศึกษาก่อนว่าเราหาแนวเพลงแบบไหนก่อนไปที่ร้าน เพื่อเวลาที่คุ้มค่าที่สุดของครับ ที่นี่ (เป็นภาษาญี่ปุ่น แนะนำให้ใช้ Google Translate นะครับ)
อื่น ๆ
- 8 Musique – รวบรวมแผ่น Vinyl และ CD หลากหลายแนว ทั้งไทยและต่างประเทศ ร้านอยู่ในตึก Eight Thonglor ส่วนใหญ่แล้วเป็นแผ่น Mint
- Track Addict Record – เจอร้านคุณพลอยครั้งแรกในงาน Made By Legacy คุณพลอยมีแผ่น Jazz ดี ๆ เยอะมาก ปัจจุบันร้านย้ายไปอยู่ที่ Dumbo BKK
- Zudrangma Records – Selection ของ Zudrangma น่าสนใจมากเช่น ลูกทุ่ง, หมอลำ, Africa, และ World Music หลังเลือกแผ่นเสร็จ สามารถแวะฟังเพลงที่ Studio Lam ต่อได้เลย
- Garage Records – ร้านแผ่นเสียงย่านลาดพร้าว เน้นแผ่น ‘80s-‘90s รวมถึง Indie ยุค ’10s-20s’
- Recoroom – แผ่นแจ๊สเยอะ และยังขายเครื่องเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง Vintage
- Hall of Fame Records – ร้านนี้อยู่คู่คนไทยมามากกว่า 20 ปี ปัจจุบันตั้งอยู่ใน Fortune Town มีทั้งแผ่นเสียงใหม่ และ Used หลากหลายแนว
- P&P Audio – ส่วนใหญ่จะระบุราคาเดียวทั้งลัง ตั้งแต่ 150-300 บาทต่อแผ่น แผ่นญี่ปุ่นเยอะ
- อีกหลายร้านที่อยากไป แล้วยังไม่มีโอกาสเช่น ร้านบองโก, Vinyl & toys, Hidden Tracks Records, Earthtone Records, Tonchabab record shop, Fatblack Records, Vinyl Die Hards, Sex Record Shop, และ ร้านแผ่นเสียง
- อื่นๆ – เวลาเราไปประเทศไหน หรือเมืองไหน เราชอบแวะไปร้าน Vinyl ท้องถิ่นของเมืองนั้น ๆ โดยเว็ป Recordstores.love ได้รวบรวมร้านแผ่นเสียง แยกตามสถานที่โดยละเอียด
สั่งซื้อจาก Online
ทั้งนี้ก่อนสั่งให้คิดไว้ว่า เราอาจจะโดนเก็บภาษีอากรขาเข้า โดยจากประสบการณ์แล้วก่อนสั่ง เราจะคำนวน แผ่น+ค่าส่ง ไม่ให้เกิน 1,500 บาท เพื่อจะได้รับการยกเว้น ซึ่งระบุไว้ที่เว็ปกรมศุลกากร (อ้างอิง ณ วันที่ 18 ก.ค. 2563) ทั้งนี้เราไม่สนับสนุน การกระทำจงใจเลี่ยงภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าแผ่นมูลค่าสูง เราแนะนำให้คุยกับต้นทางเรื่อง Shipping Insurance ในกรณีแผ่นเสียหาย
Discogs
Discogs หรือย่อมาจาก Discographies เป็น Vinyl Marketplace จุดเด่นที่สุดของ Discogs คือมีข้อมูลของ Vinyl ซีดี เทป ทั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจาก crowdsourcing เหมือนกับ Wikipedia ที่ไม่ว่าใครสามารถเข้ามาเพิ่ม/ปรับได้ จึงทำให้ข้อมูลนั้นมีชีวิต สดใหม่
เสน่ห์ของ Discogs อีกอย่างคือเขาทำตัวเป็น Marketplace ทำให้ผู้คนและร้านค้าในนั้น สามารถทำการซื้อขายต่อกันได้ เปรียบเหมือน Lazada, Shopee และ JD Central ของผลงานเสียงเพลง ส่วนใหญ่จะเป็นเป็นของมือสอง ซึ่งทำให้เราต้องเลือกสภาพแผ่นให้ดี อ่านให้ละเอียด ถ้าแผ่นนั้นราคาแพง อาจไปถึงติดต่อผู้ขายเพื่อให้ถ่ายรูปเพิ่มเติมมาให้ดู
วิธีใช้โดยละเอียดเราอาจจะกลับมาเขียนเพิ่มเติมให้อีกที เพราะ Discogs นั้นนอกจากซื้อขายแล้ว ยังสามารถสร้าง collection แผ่นของเราได้อีกด้วย โดยขั้นตอนในการซื้อ Vinyl บน Discogs จะเริ่มโดย
- เจอ Vinyl ที่ตั้งใจว่าจะซื้อ (ราคาที่แสดงส่วนใหญ่ จะไม่รวมค่าส่ง)
- เราสร้าง Order (ก่อนสร้างให้เช็คค่าส่งสินค้าก่อน โดยส่วนใหญ่ผู้ขายจะลงไว้ละเอียด)
- ผู้ขายจะเข้ามายืนยันค่าส่งสินค้า แล้วก็จะส่ง Invoice มาให้เราจ่ายเงิน (มาถึงขั้นตอนนี้ ถ้าเราเปลี่ยนใจหรือไม่จ่าย เราอาจจะโดน Rating ที่เป็นลบได้ ขึ้นอยู่กับการเจรจา)
- เราจ่ายเงิน และรอให้ผู้ขายยืนยันการรับเงิน
- ผู้ขายส่งสินค้าพร้อม Tracking Number
เราใช้บริการ Discogs บ่อย ทั้งในการซื้อขายและเช็คราคากลางของ Vinyl เราคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดของ Discogs คือ การเข้าถึงและข้อมูล และความรู้สึกว่าเราสามารถเป็นเจ้าของ Vinyl แผ่นไหนก็ได้
Amazon (.co.jp, .co.uk, .com)
เราสั่งซื้อบ่อย ตอนตามเก็บอัลบั้มของศิลปินที่ชอบ โดยจะเป็นแผ่นใหม่ ราคาไม่แพง ส่วนใหญ่แล้วค่าส่งมาไทยไม่เกิน $10 USD ระยะเวลาส่งประมาณ 1 เดือน และ tracking ไม่ค่อยชัดเจน ข้อดีคือ Customer Service ของ Amazon นั้นดีมาก ไม่ต้องกลัวเรื่องของหายหรือไม่ได้เงินคืน
Note 26 ก.ย. 2563: Amazon.co.jp สามารถกลับมาสั่งได้แล้ว โดยจะคำนวนค่าส่งกับ import fee มาอัตโนมัติ สบายใจได้ว่าแผ่นถึงมือเป็นราคาสุดท้ายแน่นอน การสั่งแผ่นนึงจะอยู่ประมาณ 1500~2000 บาท
HMV.co.jp
เราชอบ HMV.co.jp มาก เพราะช่วงหลังทางญี่ปุ่นจะ repress/remaster อัลบั้มยุค 70s-00s บ่อยมาก ตั้งแต่แผ่นที่เราคิดว่าจะไม่สามารถเป็นเจ้าของเช่น Ryo Fukui และอัลบั้มหายากที่ไม่เคย press เป็นแบบ Vinyl มาก่อนเช่น Nujabes ระยะในการส่งเร็ว tracking ชัดเจน ราคารวมส่งต่อแผ่นค่อนข้างสูง (4,000 – 6,000 เยน)
Note 26 ก.ย. 2563: สามารถสั่งแผ่นจาก HMV.co.jp ได้ปกติแล้ว! ค่าส่งมาไทยประมาณ 1500 เยน (ไม่รวมภาษี)
Vinyl Digital
Vinyl Digital เป็น distributor จากเยอรมัน แหล่งรวมอัลบั้มแนว lofi, hip-hop และ alternative ที่ใหญ่และราคาถูก มี Pre-order แผ่น limited บ่อยมาก โดยราคาจะถูกปรับอีกทีที่หน้า checkout เพราะถ้าสั่งมาไทยจะไม่ถูกคิดภาษี EU โดยสั่งแต่ละทีอาจจะต้องรอ 1-2 เดือนหลังจากสินค้าถูก shipped และ tracking ไม่ค่อยชัดเจน รวมไปถึง Customer Service ไม่ค่อยตอบคำถามเท่าไหร่ ข้อดีคือของถูกและศิลปิน independent ชอบมาใช้บริการ Vinyl Digital ให้ทำ Vinyl บ่อยครั้งเราเลยได้แผ่น limited ใน 100-200 แผ่น ซึ่งปัจจุบันมีราคา aftermarket สูง
Bandcamp หรือจากเว็ปศิลปินโดยตรง
ถ้าศิลปินมีสองช่องทาง Bandcamp หรือวงมีเว็ปเป็นของตัวเอง เราจะเลือกสั่งก่อนวิธีอื่น เรามีความเชื่อว่า ศิลปินจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า
Facebook Group
เราเคยซื้อจาก Vinyl-Longplay ซื้อ-ขาย แผ่นเสียง อยู่หนึ่งครั้ง ซึ่งวิธีการซื้อขายคือผู้ขายจะตั้งpost และ comment แผ่นที่ตัวเองจะขาย โดยผู้ซื้อจะต้อง reply ใต้ comment นั้นเพื่อซื้อ ใครมาก่อนได้ก่อน โดยเรามีประสบการณ์ที่ดี และได้แผ่นที่ตามหามานานจากกลุ่มดังกล่าว
หากผมขาดตกบกพร่อง หรือถ้าผู้อ่านท่านใจอยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม อยากรู้อะไรลึกมากขึ้น สามารถ feedback มาหาผมได้ที่ [email protected] นะครับ
หวังว่าจะได้เจอแผ่นที่ตามหาเราอยู่ครับ 🙂